วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเขียนนวนิยายสืบสวนแนว Cozy

การเขียนนวนิยายสืบสวนแนว Cozy

Mystery fiction

Mystery fiction เป็นนวนิยายลึกลับ ที่เน้นไปทางการสืบสวนสอบสวนปมปริศนาที่ถูกสร้างขึ้น
ประเภท
การแบ่งประเภท อีกครั้งที่ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แล้วแต่ความเห็นของแต่ละคน แต่สามารถแบ่งประเภทอย่างคร่าว ๆตามวิวัฒนาการของเรื่องตามช่วงเวลา ได้ ดังนี้
Gothic stories ( เริ่ม ต้นปี ค.ศ.1700) เป็นเรื่องลึกลับน่ากลัว และหนือธรรมชาติ มักจะเกิดเรื่องที่ปราสาทเก่าแก่ ที่มีความลึกลับซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน จะมีเสียงกรีดร้องโหยหวน มีความมืดสลัวเพื่อให้ฉากมีความน่ากลัวขึ้น มีการขู่เข็ญเหยื่อที่โดยมากจะเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์
Crime stories ( เริ่มในช่วงต้นและเด่นชัดกลาง ปี ค.ศ. 1700 ) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรที่ ถูกคุมขังอยู่ในคุกนิวเกตที่ประเทศอังกฤษซึ่ง เป็นเรื่องความอื้อฉาวของการก่ออาชญากรรมที่ลือกระฉ่อนในหน้าหนังสือพิมพ์
Spy stories ( เริ่มเมื่อสิ้นสุด ปี ค.ศ. 1800 ) ปรากฏให้เห็นมากหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองในยุคสงครามเย็น แบ่งเป็นสองอย่างคือ เรื่องของสายลับจริง ๆ ที่แสดงให้เห็นความยากลำบากและอันตรายจากการจารกรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องที่เกอดขึ้นจริง ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นเรื่องการผจญภัยของสายลับ ที่มีพื้นฐานอยู่กับเรื่องการผจญภัย ที่พระเอกจะต้องเอาชนะอุปสรรคที่มีมาเป็นชุด ๆ ได้หมด ที่โด่งดังก็คือเรื่อง เจมส์ บอนด์ ของ เอียนเฟลมมิ่ง
Detective stories ( เป็นที่นิยมใน ปี ค.ศ. 1900 ) เป็นเรื่องราวของนักสืบ และการสืบสวน เป็นที่นิยมมาก สิ่งที่แตกต่างไปจากประเภทอื่น คือ วิธีการเล่าเรื่อง นวนิยายนักสืบจะเริ่มเรื่องเมื่อได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญขึ้น ( โดยมากแต่ไม่เสมอไปจะเป็นการก่ออาชญากรรม ) จากนั้นก็จะเปิดเผยหลักฐานของคนร้ายออกมาก่อนที่คนอ่านจะรู้ถึงรายละเอียดในตอนเริ่มต้น จากนั้นจะเพิ่มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆไปตามตามปกติของการเล่าเรื่อง และมักจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่านในการเปิดเผยความจริงออกมาในตอนจบ ( เป็นนวนิยายประเภทเดียวที่คนอ่านจะหัวเราะเมื่อรู้สึกว่าตัวเองโง่ )

สิ่งที่ต้องมีในนวนิยายสืบสวนสอบสวนแนวฆาตกรรม

The puzzle เรื่องราวอันเป็นปมปริศนา ที่มักจะก่อให้เกิดคำถามสำคัญที่ขับเคลื่อนพล็อต ในทุก ๆ เรื่องของนวนิยายสืบสวนสอบสวน รวมทั้งเรื่องสั้นแนวนี้ด้วย มัจะมีคำถามว่า “ ใครทำ ” ใครก่ออาชญากรรมครั้งนี้ขึ้น คำถามนี้จะถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ตอนต้น ทั้งนักสืบและคนอ่านยังไม่รู้คำตอบ
Detection วิธีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องการก่ออาชญากรรม (อันเป็นศูนย์กลางของเรื่อง )เมื่อปมปริศนาได้ถูกเปิดเผยและแก้ไขได้แล้ว เรื่องก็จบ
The sleuth นักสืบเป็นตัวละครเอกในเรื่องที่จะต้องเข้าไปไขปัญหาด้วยด้วยความฉลาด ความพยายายาม ความกล้าหาญ ความแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นในคุณธรรม หรือทุกอย่างรวมกัน
The worthy villain ตัวร้าย โดยทั่วไปก็คือฆาตกร เป็นตัวทดสอบขีดจำกัดความสามารถของนักสืบ เป็นตัวละครที่มีความฉลาด เจ้าความคิด และทำทุกอย่างเพื่อที่จะเอาตัวรอดจากความผิด เขาเป็นตัวสร้างปริศนาที่ท้าทายทั้งนักสืบและคนอ่าน
Fair play หลักฐานทุกชิ้นที่ถูกค้นพบในรูปของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอย เงื่อนงำ ที่ถูกค้นพบโดยนักสืบ ต้องเป็นสิ่งที่ คนอ่านจะต้องหาได้ในหนังสือและรู้เท่าเทียมกัน
Realism and Logic ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในเรื่องต้องเหมาะสม มีเหตุผล และ เหมือนจริง

ตัวละครในนวนิยายสืบสวนสอบสวน
ฆาตกร
ต้องสร้างภูมิหลังให้กับเขาด้วย
แรงจูงใจ ทำไมจึงก่ออาชญากรรม ทำแล้วได้อะไร
จะให้ก่ออาชญากรรมคนเดียว หรือเป็นกลุ่ม มีผู้สมรู้ร่วมคิดไหม ? คิดเอาไว้เลย
เขาเป็นฆาตรกรโรคจิต หรือพวกฆาตกรต่อเนื่อง หรือเปล่า
หากถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาหรือเธอไม่ควรจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนอ่าน
เขาต้องฉลาด และเจ้าความคิด เพื่อให้การสืบสวนของนักสืบเต็มไปด้วยความยากลำบากและมีความเข้มข้น ชิงไหวชิงพริบกัน
ต้องฉลาดในการกลบเกลื่อนร่องรอย เพื่อที่จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงจากคนอ่านจนถึงบทสุดท้าย
เขาต้องปรากฏตัวให้เห็นในแบบที่เขาไม่ได้เป็น และไม่ให้เห็นในสิ่งที่เขาเป็น การชี้ตัวหรือเปิดเผยฆาตกรที่แท้จริงจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่าน
นักสืบ
เลือกเอาว่า จะให้เขาเป็นนักสืบเอกชน นักสืบสมัครเล่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
สร้างภูมิหลัง ชีวิตส่วนตัวของเขา ซึ่งอาจจะใช้เป็นพล็อตย่อยได้
เขาต้องมีแรงจูงใจในการทำการคลี่คลายปัญหาเช่นเดียวกัน
คุณสมบัติทั่วไปต้อง ฉลาด มีไหวพริบ ละเอียดถี่ถ้วน ฯลฯ ตามที่คุณต้องการ ( ดูตัวอย่างจากนวนิยายสืบสวนทั่วไปได้ )
ภูมิหลังของเขาหากเคยทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง ควรจะมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือในด้านข้อมูล หรือความชำนาญพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้เป็นอย่างดี
เอาใจใส่ในการสร้างนักสืบ ให้เขามีลักษณะเด่นและด้อย วิธีการที่เขาคลี่คลายปัญหาแสดงถึงไหวพริบอันชาญฉลาด หากเขาเป็นที่พอใจของคนอ่าน ก็จะทำให้คุณมีหนังสือเล่มต่อมาในการคลี่คลายคดีของเขาอีก
เหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้าย
ต้องคัดเลือกด้วยความเอาใจใส่ ตัดสินว่าจะให้เป็น หญิงหรือชาย หนุ่มหรือแก่
ควรจะเป็นคนที่มีชื่อเสียง หรือมีความสำคัญ หรือเป็นหญิงสาวที่มีความสวยน่ารัก ที่สามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจ และสร้างความสนใจต่อตัวละครอื่นในเรื่อง
อาจจะสร้างให้เหยื่อเป็นคนดี สุภาพบุรุษ หรือคนแก่ใจบุญ ที่ถูกฆ่าอย่างทารุณ แต่ต่อมากลับพบว่าแท้ที่จริงเขาหรือเธอเป็นคนเลวสุดๆ และถูกฆ่าเพื่อความถูกต้อง หรือเพราะขุ่นเคืองจากเมตตาธรรมจอมปลอม
ผู้ต้องสงสัย
จะมีมากหรือน้อยแล้วแต่ความยาวของเรื่อง
ผู้ต้องสงสัยจะเป็นตัวละครที่สร้างความก้าวหน้าให้กับเรื่อง และคนอ่านมักจะมั่นใจว่าใช่ แต่แล้วก็ไม่ใช่ ตัวละครอื่นจะถูกนำเข้ามาให้สืบสวนต่อไป การสร้างเรื่องอาจจะวางผู้ต้องสงสัยเป็นลำดับ A,B,C,D ฆาตกรที่แท้จริงอาจจะเป็น D แต่หาก D สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ว่าไม่ใช่เขา แต่คือ C เป็นต้น
อาจจะมีตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจผิดว่าเขาคือฆาตกร โดยเฉพาะ( แท้จริงแล้วไม่ใช่)
การสร้างผู้ต้องสงสัยจะสนุกหรือน่าสนใจก็อยู่ที่พล็อตเรื่อง คนอ่านอาจจะไม่กล้าหายใจเมื่อคิดว่าฆาตกรคือสาวสวยแต่หัวแข็ง หรือสร้างความสงสัยว่าฆาตกรจะคือหนุ่มรูปหล่อที่เหมาะจะเป็นพระเอกมากกว่า หรือ จะเป็นหลานชายที่อาศัยอยู่ด้วย หรือจะเป็นคนรับใช้เก่าแก่ ฯลฯ
หากสร้างมูลเหตุจูงใจ ที่เป็นไปได้ว่าผู้ต้องสงสัยอาจจะเป็นฆาตกรที่แท้จริงได้ทุกคน จะทำให้เรื่องรักษาความน่าสงสัย และชวนติดตามอยู่ได้ตลอดทั้งเรื่อง
ตัวละครนี้ต้องมีความสำคัญ และมีบุคลิกที่สร้างความเร้าใจสะดุดตาเป็นพิเศษ และมีความสำเร็จในการที่จะปกป้องตัวเองจนถึงตอนจบของเรื่อง
พยาน
พยานผู้เห็นเหตุการณ์ อาจจะเปิดเผยตัวเอง อย่างเต็มใจ หรือไม่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนก็ได้
เพราะอะไรเขาจึงเต็มใจ หรือไม่เต็มใจ ในการเป็นพยาน
พยานที่เป็นตัวละครไม่สำคัญมากนัก มักจะถูกฆ่าปิดปากได้ง่าย ๆ
พยานที่สำคัญ อาจจะถูกปกป้อง คุ้มครองจากตัวนักสืบเอง ( หากเป็นหญิงสาวสวยจะมีเรื่องโรแมนติคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้ )
ผู้ช่วยนักสืบ
อาจจะเป็นหัวหน้าหน่วย หรือ นักข่าว หรือทนายความ ที่อยากเป็นนักสืบ การช่วยเหลือนักสืบเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ
เขาอาจจะทำผิดและเป็นที่เย้ยหยัน แต่ความผิดพลาดของเขาจะทำให้คนอื่นพบทางที่ถูก
เขาอาจจะเป็นคนที่ฉลาดแต่เงียบขรึม มีแง่คิดที่จะแยกแยะประเด็นให้นักสืบได้เห็นชัดขึ้น ในเวลาที่นักสืบเข้าตาจน แต่บางครั้งเขาก็ทำมันอ้อม ๆ เพื่อคอยดูความจนแต้มของนักสืบ
ตัวละครอื่น ๆ ที่ทำให้เรื่องสมจริงยิ่งขึ้น
เช่น ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา นักข่าว คนรับใช้ คนขายของ ฯลฯ

สถานที่ และเวลา
สามารถใช้ทุกที่เป็นสถานที่เกิดเหตุได้ ( สถานที่เหยื่อชอบไป หรือใช้เป็นที่นั่งเล่น ทำงานอดิเรกจะน่าสนใจกว่า สถานที่ทั่ว ๆ ไป )
ควรใช้สถานที่คนอ่านรู้จัก หรืออยากไป หรือเคยขับรถผ่าน
สถานที่นักเขียนรู้จักดี จะทำให้เกิดความเชื่อถือได้มากกว่าสถานที่ที่ไม่รู้จัก
สถานที่กว้างใหญ่ จะมีความแตกต่าง และใช้ในการสร้างความสงสัย ได้ยาว มีผลต่อการสืบสวนแตกต่างจากสถานที่เล็ก หรืออยู่ในวงจำกัด ( เช่นบนเรือสำราญ หรือบ้านพักที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ) ศูนย์กลางของเรื่องจะมุ่งความสนใจไปที่ตัวละครมากกว่า
ตระเตรียมจุดที่ พบศพ และจุดที่ค้นพบร่องรอย จะให้ดีควรจะวาดแผนที่ประกอบเอาไว้
ควรใช้สถานที่เสริมการสร้างบรรยากาศในเรื่อง
ผลกระทบของภาวะดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล ( ฝนตกร่องรอยหาย หรือฝนตกเหยื่อออกไปข้างนอกทำไม )
วันเวลาที่เกิดเหตุ

พล็อตเรื่อง
โดยมากจะเป็นสูตรสำเร็จดังนี้ ( นักเขียนที่ฉลาดก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของตัวเอง แต่ที่เป็นอยู่ก็ใช้ได้แล้ว )
๑.กล่าวถึงอาชญากรรมหรือความลึกลับที่เกิดขึ้น ให้รายละเอียดของเหยื่อ รวมทั้งแนะนำตัวนักสืบ
๒. ชี้นำการสืบสวนตรงไปยังข้อสรุปที่ในตอนท้ายพบว่า ผิดพลาด ๓.เปลี่ยนจุดศูนย์กลางและขอบเขตในการสืบสวน นี่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องที่กลายเป็นว่านักสืบ อยู่ในทางที่ผิด และมีบางสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่นมีศพที่สองเกิดขึ้น หรือการตายของผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง หรือการค้นพบที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ข้อสงสัยชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องได้ไปสู่แนวทางสืบสวนใหม่
๔. ปัญหาถูกแก้ไขได้สำเร็จ

พล็อตง่าย ๆ เอาไว้ฝึกเขียน
วางปัญหาลงไป การก่ออาชญากรรมควรจะเกิดกับบุคคลมากกว่าทรัพย์สิน เช่นการฆาตกรรม
สร้างข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เช่นพวกร่องรอย เงื่อนงำ ผู้ต้องสงสัย พยาน
วิธีการค้นพบหลักฐาน ที่นำไปสู่ตอนจบ
การพิสูจน์หลักฐาน อันเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง และไขข้อข้องใจต่าง ๆ ทั้งหมดในเรื่องที่วางปมเอาไว้
ความแตกต่าง ๔อย่างที่สร้างเรื่องได้เป็นร้อย
ความแตกต่างในวิธีการที่คนร้ายใช้กับเหยื่อ
ความแตกต่างของสิ่งของที่คนร้ายค้นหา
ความแตกต่างของสถานที่เกิดเรื่อง
ความแตกต่างของห้วงอันตรายที่นักสืบจะต้องได้รับ
( จาก Lester dent's Master Plot )

เรื่องนักสืบตามแนวนิยม
The straight Mystery ตัวละครขับเคลื่อนเรื่องที่พฤติกรรมเกิดขึ้นมีศูนย์กลางที่การเกิดอาชญากรรม โดยมากจะเป็นการฆาตกร
The puzzle Mystery เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักสืบและปัญหาที่เขาต้องคลี่คลาย ด้วยความฉลาดและมีไหวพริบ( ตัวอย่าวนวนิยายของ อกาธา คริสติ้ )
The hard-boiled Mystery เป็นเรื่องราวการผจญภัย เสี่ยงภัย อาจจะเกี่ยวกับปริศนาลึกลับ หรือเรื่องนักสืบ แต่มักจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การกระทำอันห้าวหาญของตัวละครเอก ซึ่งโดยมากก็จะเป็นนักสืบเอกชน ที่เป็นเสมือนซุบเปอร์ฮีโร่ และออกจะไปในแนวบู๊ด้วย
The novel of Pursuit เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจารกรรม หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่จะทำให้คนอ่านสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การค้นหาว่าตัวละครเอกจะหนีพ้นจากสถานการณ์นี้อย่างไรเป็นเสน่ห์ของเรือง บทบู๊ และ ความน่าหวาดเสียวและบ่อยครั้งจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการไล่ล่า กับดัก และการถูกจับได้ จะมีความสำคัญมากกว่าแรงจูงใจภายใน ของตัวละคร เรื่องจะเป็นลักษณะของการใช้พล็อตขับเคลื่อนมากกว่าใช้ตัวละครขับเคลื่อน ตัวอย่างเรื่องก็เช่น
-จะเป็นนวนิยายพวกสายลับ
-เรื่องเกี่ยวกับตัวละครเอกจะหนีให้พ้นจากการบีบบังคับของความชั่วร้าย ของระบอบการปกครองที่ชั่วร้าย
-เกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่นมนตร์ดำ ผี หรือแม่มดวูดู
-บางทีก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโลก เช่นการหยุดยั้ง ระเบิดนิวเคลียร์ สงครามเคมี หรือการ
เปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ( เรื่องเจมส์บอนด์ จะออกแนวนี้)
The Whodunit เป็นนวนิยายนักสืบ ที่มีตัวละครเป็นตัวเดินเรื่องในการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่ผลออกมามักจะสร้างความประหลาดใจให้กับคนอ่าน อันเกิดจากบุคลิกภาพ บทบาท และคุณสมบัติ ของนักสืบที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ในการเปิดเผยถึงวิธีการสืบสวนค้นหาความจริง แตกต่างไปจากวิธีทั่ว ๆ ไป เรื่องแนวนี้มีการเขียนออกไปมากมายหลายชนิด เช่น
-คนอ่านจะถูกแสดงให้เห็นถึงความลับในการก่ออาชญากรรมที่ละขั้น ๆ
-การก่ออาชญากรรมในแบบที่ให้เหยื่ออยู่ในความสบายไม่มีความเจ็บปวดหรือโหดร้ายแสดงให้เห็น (ถูกฆ่าในขณะนอนหลับ หรือจิบน้ำชา โดยมากมักจะมีแมวน่ารักประกอบในเรื่องด้วย)
-เรื่องเกี่ยวกับ สตรีที่ตกอยู่ในอันตราย อันเป็นเรื่องโรแมนติค เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเอก ( นักสืบ หรือ บอดีการ์ด )กับสตรีที่เขารักเป็นศูนย์กลางของเรื่อง
-เรื่องลึกลับที่เกิดในสังคมย้อนยุค
-เรื่องที่พระเอกต้องต่อสู้กับการเมือง ความหายนะของเทคโนโลยี หรือกลียุคของสังคม
-เรื่องตำรวจนักสืบที่ต้องไขปัญหาอาชญากรรมโดยใช้เทคนิคและขบวนการทางกฏหมาย
-เรื่องการสืบสวนอาชญากรรมโดยที่ผู้ก่ออาจจะเป็นองค์การที่ถูกกฏหมาย หรือเป็นสำงานประกันภัย หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอง หรือคนในวงการนักสืบเอง
-เรื่องเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิต หรือการลักพาตัว
-เรื่องเกี่ยวกับฆาตกรที่รู้ตัว และต้องค้นหานำเขากลับมารับโทษ
-เรื่องเกี่ยวกับการทุจริต คอร์รับชั่นในองค์การ หรือสถาบันต่าง ๆ หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่ควรรู้และเตรียมไว้ในการเขียน นวนิยายสืบสวนสอบสวน
เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม
๑.ลักษณะการก่ออาชญากรรม
การฆาตกรรม
การปล้น
การลักพาตัว
ฯลฯ
๒.วิธีการฆาตกรรม และเครื่องมือ
การยิงด้วยปืน
การแทง ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น มีด เหล็กแหลม ดาบ
การใช้ยาพิษ กลิ่น รส ลักษณะ จำนวนที่ใช้ วิธีใช้
ระเบิด
เทคโนโลยีใหม่ ๆ
ลักษณะพิเศษอื่น ๆ เช่น ฆ่ารัดคอด้วยริบบิ้น วางดอกกุหลาบไว้ที่ศพ การตัดสายเบรครถ เลือกฆ่าเฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น สถานที่ฆาตกรรมเป็นในโรงเรียน ห้องน้ำ เสมอ
ฯลฯ
๓. แรงจูงใจในการก่ออาชญากรรม
การรู้ภูมิหลังของฆาตกร จะช่วยในเรื่องของแรงจูงใจมาก
โดยมากก็จะมาจาก เรื่อง เงิน ความรัก และการแก้แค้น
ซึ่งเชื่อมโยงมาจาก การถูกทารุณกรรม ความเกลียด ความโกรธ ความอิจฉา ความละโมบ ความปลอดภัย ความทะเยอทะยานอัน เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีของมนุษย์
อย่างไรก็ตามแรงจูงใจ ควรจะเป็นสาเหตุในเรื่องปัจจุบัน มันน่ารำคาญที่มันจะเกิดจากความผิดพลาดและแรงแค้นเมื่อ ๓๐ ปีก่อน
วิธีการสืบสวนสอบสวน

๑. การตั้งสมมุติฐานในการเสียชีวิต
เป็นอุบัติเหตุ
เป็นการฆ่าตัวตาย
เป็นการถูกฆาตกรรม
ควรจะเขียนเหตุผลกำกับไว้ด้วยว่า ใช่ หรือไม่ เพราะเหตุใด
๒. รวบรวมร่องรอยหรือเงื่อนงำในที่เกิดเหตุ
ประเภทของร่องรอย
ร่องรอยที่ทิ้งไว้ มีเบาะแสสืบค้นได้ เช่น หมาไม่เหาะเมื่อบ้านถูกบุกรุก แสดงว่าฆาตกรต้องเป็นคนคุ้นเคย
ร่องรอยที่หาไม่พบ หรือไม่มีเบาะแสควรจะเป็นร่องรอยเกี่ยวกับการฆาตกรรมได้ เช่นเหยื่อถูกแทงด้วยมีดน้ำแข็ง ไม่ปรากฏอาวุธใดให้เห็น มีเพียงน้ำที่เจิ่งอยู่ปลักหนึ่ง
ร่องรอยที่เห็นได้ชัด เช่นจดหมายขู่
ลักษณะของร่องรอย หรือเงื่อนงำ
อะไรที่นักสืบจะต้องค้นหา และร่องรอยบ่งบอกถึงอะไร
รอยนิ้วมือ ตำหนิ และแผลเป็นต่าง ๆ
อาวุธ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
กองเลือด วิถีกระสุน ร่องรอยจากบาดแผล
ความไร้ระเบียบ หรือรกรุงรังของสถานที่เกิดเหตุ
จดหมายขู่ ร่องรอยการฉีกขาดของกระดาษสื่อสารข้อความ สมุดบันทึกที่หายไป ตู้เซฟที่เปิดอยู่ หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นของเหยื่อ
ร่องรอยซ้ำซาก เช่น นาฬิกาที่หยุดเดิน เมื่อการฆาตกรรมได้เกิดขึ้น
การปลอมตัวหรือเลียนแบบบุคคลอื่น
คำพูด หรือกิริยาท่าทาง ของผู้ต้องสงสัย หรือพยาน
การจัดการกับร่องรอย
นักเขียนควรจะจดเตรียมเอาไว้ ทั้งร่องรอย หลักฐาน ผู้ถูกสงสัย เงื่อนไข การปลุกความสงสัย อยากรู้อยากเห็น และความหมายของร่องรอยต่าง ๆ รวมถึงผลที่ตามมา หากว่าร่องรอยนั้นนำไปผิดทาง ก็ไม่เป็นไรถ้ามันมีเหตุมีผลอันสมควร และเป็นส่วนหนึ่งของพล็อตเรื่อง
นักเขียนควรจะมีแผนภาพประกอบสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมไว้ด้วย ( โดยเฉพาะนักเขียนใหม่ )

ทำรายการผู้ต้องสงสัย
เริ่มด้วยผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นฆาตกรได้ เช่น คู่แข่ง ศัตรู คนที่แสดงความไม่พอใจเหยื่อ
รายชื่อผู้ต้องสงสัยที่เคยเป็นนักโทษหรือทำผิดในกรณีเช่นเดียวกันนี้ ( พวกมือปืน )
คนแปลกหน้า หรือผู้ที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ หรือเพิ่งมาแวะเยี่ยมเยียน ฯลฯ
ในรายการควรจะบอกถึง แรงจูงใจ และโอกาสในความเป็นไปได้ว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้กระทำหากเขาไม่ใช่ ก็ให้เหตุผลไว้ด้วยเพราะอะไร ( เช่นเขามีพยานบุคคล หรือเวลาที่เกิดเหตุเขาอยู่ที่อื่น )
การมีรายการผู้ต้องสงสัย เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อนักเขียน ในการปรับเปลี่ยน และคัดเลือกตัดทิ้ง
ผู้ต้องสงสัยจากคนร้ายที่แท้จริง จะเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นให้กับคนอ่านที่เดาเอาไว้จนจบ
ข้อแนะนำ คุณควรหากระดาษมา แบ่งออกเป็นตารางสามช่อง ช่องแรกเขียนชื่อผู้ต้องสงสัย ช่องที่สองแรงจูงใจหรือแนวโน้มที่เป็นไปได้ ช่องที่สามข้อแก้ต่างของผู้ต้องสงสัยที่บริสุทธิ์ ควรจะเรียงลำดับผู้ต้องสงสัยสูงสุดลงมาตามลำดับ

เตรียมสาเหตุการสืบสวนที่หลงทางได้ง่าย
จากร่องรอยที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ( คืออะไร ให้เตรียมไว้อย่างมีเหตุผล เป็นความจงใจของฆาตกรหรือเปล่า หรือเข้าใจผิดไปเอง )
หลักฐานที่ถูกทำลายไปแล้ว ( เช่นเผา ทิ้งแม่น้ำ ) ทำให้ไม่มีเงื่อนงำ
การตั้งข้อสมมุติฐานผิด (ตายเพราะถูกฆ่าชิงทรัพย์ แต่ความจริงไม่ใช่ )
ความผิดพลาดในข้อเท็จจริง หรือการวินิจฉัยที่ผิด ( วินิจฉัยว่าเขาถูกฆาตกรรมโดยการรัดคอ แต่ความจริงถูกเข็มยาพิษก่อน แล้วเชือกรัดอำพราง )
ฆาตกรรมที่เกิดในห้องที่ปิดกุญแจ หรือปิดกั้นจากด้านใน ไม่มีทางเข้าออกอีก มักจะสรุปว่า ฆ่าตัวตาย
ฯลฯ
เตรียมการคลี่คลายคดีหรือข้อสงสัย ปมปัญหาแต่ละอย่าง
การคลายปมปริศนาแต่ละเรื่องต้องมีเหตุและผล สามารถอธิบายให้คนอ่านเข้าใจได้
วิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาจะใช้วิธีตามแนวนวนิยายนักสืบดั้งเดิม ที่มักจะเชิญผู้ต้องสงสัยมารวมกลุ่มกัน ฟังการคลี่คลายคดี โดยย้อนรอยการฆาตกรรม ตัดบุคคลหรือข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้องทิ้งไป มีแนวโน้มจะใช้หลักจิตวิทยากระตุ้นให้คนร้ายเผยพิรุธออกมา และเผลอสารภาพเองโดยไม่รู้ตัว
ใช้วิธีตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์หลักฐาน บ่งบอกถึงคนร้ายอย่างดิ้นไม่หลุด

๑๒ ยอดนักสืบที่ควรรู้จัก

๑. ลอร์ดปีเตอร์ วิมเซย์ โดย โดโรธี แอล เซเยอร์ ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง “ Whose Body ” ( 1923 ) และอีกครั้งในเรื่อง “ Strange Poison” ( 1930 ) และในเรื่อง “ The nine Tailors ” (1934) เป็นคนผอม ดูดี กล้าได้กล้าเสีย และใส่แว่นตาข้างเดียว วิมเซย์เป็นนักสืบที่สมบรูณ์แบบ เป็นผู้ดี และเก่งมาก เขาเป็นนักสืบคนเดียวในบรรดานักสืบทั้งปวง ที่พบกับเวลาแต่งงาน
๒. ฟิลลิป มาร์โลว์ โดย เรย์มอนด์ แชนเดลอร์ เป็นนักสืบแนวบู๊ ปรากฎตัวครั้งแรกในเรื่อง “ The big Sleep ” ( 1939 ) เรย์มอนด์ ได้พยายามสร้าง มาร์โลว์ ขึ้นมาด้วยการพูดถึงว่า “ เป็นผู้ชายที่สมบรูณ์แบบและดูธรรมดา แต่เหนืออื่นใด เขาเป็นผู้ชายที่มีเกียรติ ”
๓. แซม สเปรด โดย แดสฮิลล์ แฮมเลตท์ การผจญภัยที่มีชื่อเสียงของ สเปรด อยู่ในนวนิยายนักสืบแนวบู๊ ซึ่งจัดว่าเป็นเป็นนวนิยายนักสืบคลาสสิคเล่มหนึ่ง ชื่อ “ The Maltese Falcon ” ( 1928 ) ในสภาพแวดล้อมที่มีผสมทั้งความรุนแรง และคนร้ายที่ทรยศหักหลังที่เกิดขึ้นในสังคม แซม สเปรด จะต้องนำตัวเข้าไปแทรกเสมอ
๔.เปอร์วี เมสัน โดย เอิร์ล สแตนเลย์ การ์ดเนอร์ เป็นนักสืบที่ให้คำปรึกษาด้านการป้องกันตัวเอง ที่ได้รับความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ ถูกแนะนำตัวเมื่อปี 1932 จากเรื่อง “The Case of the Velvet claws ” เรื่องของเมสันมีความน่าสนใจจากการเอาใจใส่ในรายละเอียดประเด็นของกฏหมาย การใช้นิติวิทยาศาสตร์ เวชศาสตร์ และอาชญากรรมวิทยา เข้ามาอยู่ในเรื่อง
๕. เนโร วูฟล์ โดย เรกซ์ สเตราท์ ปรากฏครั้งแรกในเรื่อง “ Fer de-Lance ” (1934 ) เนโร เป็นอัจฉริยะที่อยู่ในรูปร่างผิดธรรมดา เขาไม่ใช่คนที่เข้าใจในตัวเองมากนัก แต่เขาก็เป็นคนที่มีเสน่ห์ ผู้ช่วยของเขาคือ อาร์ชี่ กูดวิน
๖. ซี ออกุส ดูแป็ง โดย เอ้ดการ์ แอแลน โป ปรากฏในหนังสือเรื่อง “ The Murder of the Rue Margue ” ถือว่าเขาเป็นนักสืบคนแรกในโลกนวนิยายนักสืบ ดูแป็งเป็นคนยากจนแต่มีเชื้อสายขุนนาง มีความรู้ สูบบุหรี่จัด เขาแก้ปัญหาอาชญากรรม ด้วยวิธีที่น่าทึ่ง คือ ใช้เพียงการวิเคราะห์หาเหตุผล
๗. เอลเลอรี่ ควีน โดย เอลเลอรี่ ควีน ( นามแฝงของ มันเฟร็ด ลี วาย และ เฟรเดอริค แดนเน่ย์ ) ปารกฏตัวครั้งแรกในเรื่อง “ The Roman Hat Mystery ” ( 1929 ) เรื่องราวของเขาสร้างความบันเทิงให้กับคนอ่านด้วยวิธีการสืบสวนแบบคาดคะเนตามหลักเหตุผล และเต็มไปด้วยบทสนทนาที่มีสี สรรและความสนุกสนาน
๘.เอล พาเดอร์ บราวน์ โดย กิลเบริต์ เคียต เชสเตอตัน ปรากฏในชุดเรื่องสั้นนักสืบชื่อ “ The Innocence of Father Brown ” ( 1911 ) เป็นนักสืบที่ต่างไปจากคนอื่น เขาใช้ประสาทสัมผัสที่หก ช่วยในการสืบสวน
๙. ชาร์ลี ชาน โดย เอริ์ล เดอร์ บิกเกอร์ ชานเป็นนักสืบลูกครึ่งระหว่า จีนและฮาวายอเมริกัน ออกโรงครั้งแรกในเรื่อง
“ The House without Key ” ( 1925 )
๑๐. เอล ไมเกรต โดย จอร์จ ไชน์นอน ไมเกรต เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีมนุษยสัมพันธ์ และดูเหมือนนักปรัชญามากกว่าการเป็นตัวแทนผู้รักษากฎหมาย เขาปรากฏตัวในหนังสือชุดนักสืบ “ Inspector Maigret ” (1931 )
๑๑. แอร์คูล์ ปัวโรต์ โดย อกาธา คริสตี้ เป็นนักสืบชายเบลเยี่ยม ที่มีรูปร่างเหมือนไข่ ปราฏกตัวครั้งแรกในเรื่อง “ The Mysterious Affair at Styles ” ( 1920 ) เป็นนักสืบที่ นักอ่านนวนิยายสืบสวนต้องรู้จัก ไม่แพ้ เชอร์ลอคโฮล์มล์
๑๒. เชอร์ลอค โฮล์มล์ โดย เซอร์ ดาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง “ A Study in Scarlet ” (1887 ) เป็นนักสืบที่โด่งดังและเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: